เทคนิคในการตกแต่งเครื่องปั้นดินเผา

เทคนิคในการตกแต่งเครื่องปั้นดินเผาเหล่านี้เป็นเทคนิคพื้นฐานซึ่งใช้กันทั่วไปในหมู่ช่างปั้น ซึ่งเทคนิคต่างๆ สามารถนำไปประยุกต์ดัดแปลงเพื่อให้เกิดเทคนิคใหม่ๆจนเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวของช่างปั้นเอง หรือแม้แต่โรงงานอุตสาหกรรมก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับระบบการผลิตเพื่อให้มีความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ต่างจากที่อื่น ดังที่เห็นกันอยู่ทั่วไปในท้องตลาด

เพื่อที่จะให้ผลงานออกมาดีนั้น จะต้องคำนึงถึงความตั้งใจ ความต่อเนื่องในการทำงาน ซึ่งเป็นหนึ่งปัจจัยที่สำคัญในการทำงานตกแต่งเครื่องปั้นดินเผา เนื่องจากบางกรณีไม่อาจทิ้งงานเอาไว้เพื่อนำมาทำต่อวันหลังได้ เช่น ดินอาจจะแห้งจนเกินกว่าที่จะทำเทคนิคตกแต่งในช่วงดินหมาดได้ ดังนั้นจึงต้องให้เวลากับการทำงานจนกว่าจะเสร็จ

เกี่ยวกับเทคนิคและวิธีการของเครื่องเคลือบดินเผานั้น ผู้ที่สร้างควรจะมีมโนภาพได้ตั้งแต่เริ่มออกแบบเป็นงาน 2 มิติ ว่าจะเผาอย่างไร จะเคลือบอย่างไร เช่น ถ้าต้องการเผารากุ (Raku) ก็ควรเตรียมดินไว้ตั้งแต่ Sketch 3 มิติ หากปั้นด้วยดินชนิดอื่นก็ไม่อาจเผาด้วยเทคนิคนี้ได้ จะเห็นได้ว่างานเครื่องเคลือบดินเผานั้นจะต้องมีเทคนิคมาเกี่ยวข้องตั้งแต่ต้น ดังนั้นผู้ที่สร้างงานประเภทนี้ควรศึกษาและเตรียมความพร้อมทั้งเนื้อดินและการตกแต่ง การเคลือบไว้พร้อมๆกับการเริ่มทำแบบร่าง หากปั้นและเผาดิบออกมาแล้ว ก็คงจะเหลือเพียงไม่กี่เทคนิคที่จะเคลือบให้งานสมบูรณ์

ประสบการณ์เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผลงานออกมาสมบูรณ์ตรงความตั้งใจ จึงต้องมีการทดลองหลายๆ ครั้งจนมั่นใจเสียก่อนที่จะทำชิ้นงานจริง เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดต่างๆ อันอาจจะเกิดขึ้นตลอดเวลาในการทำเครื่องปั้นดินเผา นับตั้งแต่การชั่ง ผสมวัตถุดิบ ซึ่งหากขาดสมาธิก็อาจทำให้ชั่งปริมาณวัตถุดิบ สารเคมีผิดพลาด ซึ่งกว่าจะรู้ก็ต่อเมื่อเผางานเสร็จแล้ว ต่อมาเมื่อขึ้นรูปงานไม่ว่าจะเป็นการปั้นด้วยมือหรือขึ้นรูปโดยวิธีอื่นก็ตาม งานอาจแตกร้าว บิดเบี้ยวได้ หากขาดความรู้ความเข้าใจในการขึ้นรูป หลังจากนั้นเมื่อนำชิ้นงานไปเผาดิบอาจเกิดการปริ แตก หรือร้าวบนชิ้นงานได้ หากขึ้นรูปไว้ไม่ดี หรือหากเผาไม่ดีก็เกิดผลเสียหายกับชิ้นงานได้เช่นเดียวกัน เมื่อผ่านการเผาดิบแล้วนำงานมาเคลือบ อาจจะเคลือบบางเกินไปหรือหนาเกินไปก็เกิดปัญหาเช่นเดียวกัน ซึ่งกว่าจะรู้ก็ต้องรอจนกว่าเผาชิ้นงานเสร็จแล้ว ทำให้สิ้นเปลืองทั้งแรงงานและเชื้อเพลิงในการเผา

การสร้างงานศิลปะด้วยเครื่องปั้นดินเผาต่างกับการสร้างงานโดยวัสดุอื่นเป็นอย่างมาก เนื่องจากการหดตัวของเนื้อดิน การเคลือบ การเผาจึงทำให้ไม่สามารถควบคุมสี รูปทรงได้ถึง 100% เมื่อเปิดเตาแล้วผลงานอาจจะออกมาดีกว่าที่คาดหวังไว้หรือบางครั้งงานอาจจะแตกร้าวไม่สมบูรณ์ก็เป็นได้ ดังนั้น “ประสบการณ์” จึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะควบคุมผลงานเครื่องปั้นดินเผาให้ออกมาได้ดังใจ