รูปแบบผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาของไทย

เป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมไทยที่มีบทบาทสำคัญผูกพันกับการดำรงชีวิตของคนไทยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เพื่อทำภาชนะบรรจุน้ำดื่ม น้ำใช้ อาหาร และสิ่งของต่างๆ ทำเครื่องประดับและใช้ในพิธีกรรมทางขนบธรรมเนียนประเพณี หัวใจสำคัญของการทำผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาขึ้นอยู่กับคุณภาพของเนื้อดิน และส่วนผสมของแร่ธาตุชนิดต่างๆผสมกันเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตตลอดจนเทคโนโลยี อันได้แก่ เตาเผาและเชื้อเพลิงนอกจากนั้นลักษณะสภาพแวดล้อมของภูมิประเทศและวัฒนธรรมท้องถิ่นล้วนเป็นปัจจัยที่กำหนดลักษณะรูปแบบของผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา ให้มีเอกลักษณ์ขอศิลปะวัฒนธรรมประจำชาติ

เครื่องปั้นดินเผาในประเทศไทย มีทั้งชนิดแบบไม่เคลือบและเคลือบกว่า 6,000 ปีมาแล้วก่อนคริสต์กาล มีการพบเครื่องปั้นดินเผาซึ่งเผาในอุ๖หภูมิต่ำ และแบบไม่เคลือบที่ถ้ำผีแมนในเขตภาคเหนือของไทย โดยพบเมล็ดข้าวอยู่ติดกับหม้อดินเผา

เครื่องปั้นดินเผาของวัฒนธรรมบ้านเชียงในเขตตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหานจังหวัดอุดรธานี มีอายุประมาณ 5,600 ปีมาแล้วเป็นเครื่องปั้นดินเผาแบบไม่เคลือบ ลักษณะขึ้นรูปด้วยมือโดยไม่ใช้แป้นหมุน และใช้ไม้ตีผิวนอกให้เรียบร้อยหรือให้ได้รูปร่างตามต้องการ โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “หินดุ” รูปแบบผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียงมักมีเชิงหรือฐานทำคนละชิ้นแล้วนำมาต่อกันภายหลัง การตกแต่งลวดลายใช้วีการขูด การทาบ การกดประทับ หรือเขียนลายด้วยสีแดง เช่น หม้อ ไห แจกัน ทัพพี เบ้าหลอมรูปปั้นตัวสัตว์ศิวลึงค์ แวปั่นด้ายและลูกปัด เป็นต้น ผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง นับเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงถึงวัฒนธรรมและแหล่งโบราณคดีของไทยในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สมัยอาณาจักรสุโขทัย-อยุธยาประมาณพุทธศตวรรษที่ 19 ต้นพุทธศตวรรษที่ 22 จัดว่าเป็นยุคทองของเครื่องปั้นดินเผาไทย ซึ่งมีคุณภาพดีเยี่ยมแสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองและความฉลาดหลักแหลมของคนไทยในยุคนี้โดยมีแหล่งเตาเผาขนาดใหญ่ ซึ่งเรียกว่า เตาทุเรียง และเตาประทุนอยู่ที่เมืองสวรรคโลกเก่า (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอศรีสัชนาลัย) และเมืองสุโขทัยเก่า รูปแบบผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผามีทั้งแบบชนิดไม่เคลือบ และชนิดเคลือบซึ่งเรียกว่า “เครื่องสังคโลก” เป็นผลิตภัณฑ์ใช้สอยในครัวเรือน และใช้ในงานพิธีกรรม ตลอดจนวัสดุก่อสร้างทางสถาปัตยกรรม เช่น กระเบื้องมุงหลังคาและกระเบื้องปูพื้นฯลฯ การทำเครื่องปั้นดินเผาในสมัยนี้ นอกจากจะใช้ภายในราชอาณาจักรแล้ว ยังใช้เป็นสินค้าส่งออกอีกด้วย

รูปแบบผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาของไทย มีการเปลี่ยนแปลงสืบทอดต่อกันมาหลายยุคหลายสมัยเกือบทั่วทุกภาค ปัจจุบันการผลิตเครื่องปั้นดินเผามีหลายรูปแบบทั้ง ชนิดไม่เคลือบ และชนิดเคลือบ ชนิดไม่เคลือบมีการผลิตเป็น 2 ลักษณะ คือเป็นการผลิตเพื่อสนองประโยชน์ใช้สอยในท้องถิ่นตามชนบทพื้นบ้านทั่วๆไป รูปแบบผลิตภัณฑ์จะต่อเนื่องจากบรรพบุรุษดั่งเดิมไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เช่น หม้อน้ำ คนโท น้ำต้น กระถางต้นไม้ แจกัน และตุ๊กตาดินเผา เป็นต้น กรรมวิธีการผลิตไม่ยุ่งยากซับซ้อน ส่วนการเผาก็ทำกันง่ายๆ บางแห่งเผากลางแจ้งใช้ฟืนและฟางข้าวเป็นเชื้อเพลิง บางแห่งจะก่ออิฐเป็นเตาเผาง่ายๆ ใช้แกลบหรือฟางข้าวเป็นเชื้อเพลิงเช่นกัน แหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาแบบไม่เคลือบมีตามชนบทในเขตภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เช่น ที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ สุโขทัย มหาสารคาม อุบลราชธานี หนองคาย สงขลา นครศรีธรรมราช และปัตตานี เป็นต้น